การติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ เป็นพื้นไม้ที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีความสวยงาม มีให้เลือกหลากหลายเฉดสี ติดตั้งง่าย มีความคงทน เนื่องจากโครงสร้าง และชั้นผิวหน้าของไม้เอ็นจิเนียร์ ได้ผ่านกระบวนการอบแห้งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ไม่เป็นแหล่งกำเนิดของแมลงและปลวกในชั้นไม้ อีกทั้งยังให้สัมผัสที่เป็นธรรมชาติมากอีกด้วย และสำหรับท่านใดที่กำลังมองหาหรือเลือกวัสดุปูพื้นอยู่ แล้วยังเลือกไม่ได้ว่าจะเป็นวัสดุแบบไหนดี หรือเลือกแล้วว่าต้องเป็น พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ เพราะได้ศึกษาข้อมูลมาตามเว็บไซต์ต่างๆแล้วนั้น แต่ยังไม่รู้ว่าการติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์นั้นจะติดตั้งอย่างไร จะเหมาะกับพื้นเดิมของบ้านหรือห้องเราหรือไม่นั้น มาดูกันว่ามีการติดตั้งแบบใดบ้าง?
รูปแบบการติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์
1. การติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ แบบลอยตัวบนฟิล์มรองพื้น หรือโฟมดำบนพื้นปูน โดยการปูฟิล์มหรือโฟมดำรองพื้นก่อน แล้วจึงติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ลงบนฟิล์มหรือโฟมรองพื้นนั้น โดยการติดตั้งแบบเข้าลิ้น (วิธีนี้เหมาะกับลิ้นไม้ระบบคลิ๊กล็อคจะดีที่สุด)
ข้อดี ติดตั้งง่ายและรวดเร็ว ไม่ต้องใช้กาว และหากต้องการรื้อพื้นไม้ออก หรือมีการซ่อมแซมก็สามารถทำได้ง่าย หากเป็นการติดตั้งลงบนพื้นเดิมที่เป็นพื้นหินขัด หรือพื้นกระเบื้อง ก็จะไม่ทำให้พื้นเดิมเสียหาย
ข้อเสีย การสัมผัสพื้นจะรู้สึกว่าพื้นไม่แน่นเท้าขณะเดิน และหากพื้นเดิมปรับไม่เรียบแล้วละก็จะยิ่งมีปัญหาเรื่องความยวบของพื้นได้ง่าย
2. การติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ แบบมี Subfloor เช่น พื้นไม้อัด หรือพื้นสมาร์ทบอร์ด สามารถปูโดยการใช้ปืนลมยิงยึดแผ่นไม้เอ็นจิเนียร์กับ Subfloor ซึ่งแนะนำให้เลือกใช้พื้นไม้อัด เนื่องจาก พื้นไม้อัดมีคุณสมบัติ มีแรงยึดลูกแม็คของปืนลมได้ดีกว่าบนพื้นสมาร์ทบอร์ด ขั้นตอนคือ รองฟิล์มบนพื้นก่อนแล้วตามด้วยพื้นไม้อัดหรือพื้นสมาร์ทบอร์ด จากนั้นปูไม้เอ็นจิเนียร์ ด้วยการยิงแม็กเข้ากับร่องลิ้นของพื้นไม้เอ็นจิเนียร์เข้าไปยึดกับพื้นไม้อัดหรือพื้นสมาร์ทบอร์ด
ข้อดี การติดตั้งด้วยวิธีนี้จะให้ความรู้สึกแน่นเท้าขณะเดินมากกว่าการติดตั้งในแบบแรก
ข้อเสีย หากมีการรื้อหรือซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด จะค่อนข้างยากเพราะแรงยึดของแม็กจะค่อนข้างแน่น
3. การติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ ด้วยกาวบนพื้นปูน พื้นกระเบื้อง พื้นไม้อัด หรือพื้นสมาร์ทบอร์ด วิธีนี้พื้นต้องเรียบได้ระดับ และไม่มีความชื้น ซึ่งกาวที่ใช้ในการติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ ที่เหมาะสมก็คือ กาวโพลียูริเทน (Polyurethane) ซึ่งเป็นกาวที่มีความยืดหยุ่นสูง มีความแข็งแรง และมีอายุการใช้งานยาวนาน ทั้งนี้พื้นไม้เอ็นจิเนียร์มีอัตราการขยายตัวน้อยกว่าพื้นไม้ลามิเนตและพื้นอื่นๆ จึงสามารถปูพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ชิดกับผนังได้มากขึ้น (ระยะห่างระหว่างหัวไม้กับผนัง 5-10 มิลลิเมตร) โดยการติดตั้งนั้นจะรองพื้นด้วยฟิล์มรองพื้นก่อนแล้วตามด้วยพื้นไม้อัด หรือพื้นสมาร์ทบอร์ด แล้วปูพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ โดยทากาวด้านหลังแผ่นไม้ หรือต้องการความแน่นของพื้นมากขึ้น ให้ยิงแม็กเข้ากับร่องลิ้นของพื้นไม้เอ็นจิเนียร์เข้าไปอีกที
ข้อดี การติดตั้งด้วยวิธีนี้จะทำให้ความรู้สึกแน่นเท้าขณะเดิน และให้ความรู้สึกเหมือนเดินบนไม้จริงเลยทีเดียว จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทาง เค.เอส.วู้ด แนะนำการติดตั้งในรูปแบบนี้
ข้อเสีย เนื่องจากคุณสมบัติของกาวที่มีความยืดหยุ่นสูง และยึดติดแน่นมาก จึงทำให้การรื้อค่อนข้างยากเมื่อจะมีการซ่อมแซม แต่ทั้งนี้การซ่อมแซมไม้พื้นเอ็นจิเนียร์จะทำได้ไม่ยาก เพราะมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแผ่นไม้เฉพาะจุดที่มีปัญหาเท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งด้วยวิธีใดก็ตามนั้น หัวใจหลักคือการปรับพื้นที่ให้พร้อมและการตรวจเช็คความชื้นก่อนการติดตั้ง เพื่อการติดตั้งที่ง่ายและทำให้พื้นไม่เกิดความเสียหายได้ในอนาคต และอีกอย่างที่สำคัญคือทำให้ควบคุมงบประมาณในการติดตั้งได้ ทั้งยังประหยัดเวลาและได้งานพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ที่สวย ตามที่ต้องการอีกด้วยนะครับ